No.133 ฉบับเก็บตกเชียงใหม่เที่ยวล่าสุด-ขจี

จากที่เคยเล่าไปเมื่อ 3 บล็อกก่อนว่า ช่วงก่อนปีใหม่ได้ไปเที่ยวเชียงดาวกับเชียงใหม่มา แล้วก็เล่าเรื่องเก็บตกจากเชียงดาวไปแล้ว คราวนี้ ก็มาถึงที่เชียงใหม่บ้าง ขอเริ่มต้นกันที่ร้าน “ขจี” แบบสั้นๆละกัน 😉

10888810_832094646829815_7378792357522395028_n
“ขจี” หรือ “Khagee” เป็นร้านขนมปัง home made ใกล้สะพานนวรัฐ กับคำโปรยร้านที่ว่า “natural yeast bread cafe” โดยส่วนตัวแล้ว ผมเองก็ไม่มีความรู้เรื่อง yeast เลยไม่รู้ว่า ปกติที่เขาใช้ทำขนมปังขายแบบแมสๆ มันไม่ natural หรืออย่างไร?

ผมลองสั่งขนมปังมาสองชิ้น เครื่องดื่มมาสองแก้ว สำหรับตัวผมเองแยกไม่ค่อยออกหรอกว่า อร่อยขั้นเทพ กับอร่อยธรรมดาต่างกันยังไง แต่คนที่ไปด้วยบอกว่า “สุดติ่งกระดิ่งแมว”10898198_833728359999777_1747993716639208971_n10885531_833728319999781_2506667221071365661_n1501762_833728343333112_4563607615485550866_n

เจ้าของร้านเป็นคู่ชายไทย หญิงญี่ปุ่น เพิ่งสัมภาษณ์ลงอะเดย์ ฉบับ คนญี่ปุ่นในเชียงใหม่ ก่อนหน้าที่ผมจะไปเชียงใหม่ไม่นาน….ช่วงที่ผมไป ก็เลยจะเห็น มนุษย์ชิค ฮิปสเตอร์ มาตามรอยกันเพียบ(รวมถึงตัวผมด้วยนี่แหล่ะ ;p) แต่ความที่เป็นร้านขนาดเล็กกระทัดรัด โต๊ะนั่งในร้านเลยมีไม่เพียงพอ ก็เลยจะเห็นฮิปสเตอร์ยืนรอชิคๆหน้าร้านกันพอสมควร 😉

No.132 ฉบับเก็บตกเชียงดาวเที่ยวล่าสุด-อนุบาลยูเมะมิกิ

อันเนื่องมาจากเฟสบุุ๊คสเตตัสหนึ่งของเพจนิตยสารอะเดย์ ที่ลงรูปประกอบจากอะเดย์ฉบับ คนญี่ปุ่นในเชียงใหม่ เป็นรูป เจ้าของโรงเรียนอนุบาลที่อำเภอเชียงดาว กับฉากหลังของสนามเด็กเล่นของโรงเรียนเป็นดอยหลวงเชียงดาว ที่เล่นเอาผมอึ้งไปพักใหญ่ และก็เป็นตัวจุดประกายหนึ่งของทริปเชียงดาวในช่วงก่อนสิ้นปีที่แล้ว

จริงๆ แล้วระหว่างพักอยู่ที่อำเภอเชียงดาว ผมไม่ได้มีแผนจะไปตามหาโรงเรียนอนุบาลนี้ ก็มีนึกๆถึงอยู่บ้างแต่ก็ไม่ได้จริงจังอะไร แต่มีเหตุบังเอิญคือ ระหว่างเส้นทางจากรีสอร์ตที่พักไปเขตชุมชุน ซึ่งเป็นถนนเส้นเล็กๆที่ผมต้องขับผ่านบ่อยๆ ผมสังเกตเห็นมีโรงเรียนขนาดเล็กๆ ดูเหมือนเพิ่งสร้างมาไม่นาน บรรยากาศภายนอกดูคล้ายๆ โรงเรียนนานาชาติตั้งอยู่

ทีแรกก็คิดในใจว่า แปลกดีที่เชียงดาวมีโรงเรียนนานาชาติด้วย แต่พอขับผ่านอยู่ทีสองที ก็รู้สึกเอะใจ สงสัยว่าน่าจะใ่ช่โรงเรียนอนุบาลวิวในตำนานของอะเดย์ สุดท้ายเมื่อขับผ่านอีกทีจึงลองแวะเข้าไปดู

ตอนเข้าไปนั้นค่อนข้างเย็นแล้ว นักเรียนเลิกเรียนไปนานแล้ว พบแต่คุณครูและเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนกำลังเตรียมงานเลี้ยงปีใหม่กันอยู่ ก็เลยลองเดินเข้าไปพูดคุยเพื่อขออนุญาตเข้าไปเดินดูบรรยากาศโรงเรียน

เจ้าหน้าที่ก็อนุญาตให้แบบงงๆ แต่ก็พูดคุยให้ข้อมูลด้วยเป็นอย่างดี มีซักถามบ้างว่ามาจากไหน ลูกอายุเท่าไหร่ (คงคิดว่ามาเตรียมหาโรงเรียนให้ลูก) ก็ได้ข้อมูลเหมือนที่ลงในอะเดย์ คือเจ้าของเป็นคนญี่ปุ่นนั่นแหล่ะ แต่ไม่ใช่โรงเรียนอินเตอร์เหมือนรูปลักษณ์ที่ผมรู้สึกทีแรก เป็นโรงเรียนสามัญทั่วไป มีเฉพาะชั้นอนุบาล แต่มีสอนภาษญี่ปุ่นเสริม เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กในเชียงดาว

พูดคุยกันไปสักพัก ผมเริ่มเห็นมีคนมาที่โรงเรียนเยอะขึ้น ก็เลยขอบคุณและออกมา ครั้นจะเนียนอยู่ฉลองปีใหม่กับเขาก็เกินไปหน่อย
10474779_830807043625242_6678972912913399272_n10346199_836898256349454_6013083335739396903_n10885582_836898299682783_717170122748611199_n12826_836898326349447_7155400196636420849_n

No.131 ฉบับเก็บตกเชียงดาวเที่ยวล่าสุด-ร้านหนังสือเชียงดาว

chiangdaobookstore2
ผมได้ยินชื่อร้านหนังสือนี้ จากเฟสบุ๊คของ “ปราย พันแสง” มาเป็นปีๆแล้วเหมือนกัน เข้าใจว่า ปราย พันแสง เป็นพี่เลี้ยงช่วย setup (ในร้านเลยจะมีหนังสือของสนพ.ฟรีฟอร์ม ที่ปราย พันแสงเป็นผู้ดูแล อยู่ตามชั้นค่อนข้างเยอะ) ร้านนี้เป็นร้านหนึ่งในโครงการ ร้านหนังสือเล็กๆที่บ้านเกิด ซึ่งเป็นโครงการของเครือข่ายร้านหนังสืออิสระที่ร่วมกันสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการ โดยเฉพาะตามอำเภอรองๆในต่างจังหวัด

chiangdaobookstore3
วันที่แวะไปเยี่ยมชม ตอนที่ไปถึง ที่ร้านยังไม่มีลูกค้า มีแค่กลุ่มของผมเท่านั้น ได้พบกับน้องผู้หญิง”สาวแว่น” ท่าทางอัธยาศัยดี เฝ้าร้านอยู่คนเดียว เข้าใจว่าเจ้าของตัวจริงจะไม่อยู่ เราเข้าไปนั่งเล่นอ่านหนังสือพร้อมสั่งเครื่องดื่มและของหวานประจำร้าน นั่นคือเครปมะม่วง
รอไม่นาน น้องสาวแว่นก็เอาเครื่องดื่มมาเสริ์ฟก่อน ผมพยายามค่อยๆดื่ม เพราะรอทานพร้อมของหวาน…แต่รอไปสักพักใหญ่ก็ยังไม่มา จนผมคิดว่า น้องคงลืมไปแล้ว แต่คนที่ไปด้วยกันได้ยินน้องคุยโทรศัพท์ เหมือนคุยกับปลายสายเกี่ยวกับมะม่วงๆ เลยเดาว่า คงโทรปรึกษาวิธีการทำอยู่ หลังจากนั้นไม่นาน น้องก็ยกเครปมาเสริ์ฟ พร้อมกล่าวขอโทษที่ทำให้รอนาน…ผมยิ้มกล่าวตอบไปว่า ไม่เป็นไร พวกพี่มาเที่ยวแบบสโลว์ไลฟฟฟ์ 🙂

chiangdaobookstore1
นั่งทานกันสักพัก ก็มีรถตู้พานักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งมาจอดแวะที่ร้าน ร้านเลยคึกคักขึ้นแทนที่ความเงียบสงบก่อนหน้านี้ กลุ่มของผมทานของหวานเสร็จ ก็เลยปลีกตัวออกไปเที่ยวที่อื่นต่อ

No.130 ฉบับเก็บตกเชียงดาวเที่ยวล่าสุด-มะขามป้อมอาร์ตสเปซ

ช่วงสัปดาห์ก่อนมีโอกาสลางานยาวไปเที่ยวเชียงดาวและเชียงใหม่ ระหว่างเดินทางท่องเที่ยวก็มีทวีต มีโพสเรื่องราวต่างๆ นาๆ เป็นบันทึกระหว่างทางไว้บ้าง แต่ก็มีอีกหลายสิ่ง หลายอย่าง ที่มาพบ มาเจอ มานึกถึง หรือ อยากจะบันทึกไว้เพิ่มเติมภายหลัง ทั้งเกี่ยวกับสถานที่ ความคิด หรือ ผู้คน โดยขอเริ่มต้นจาก

“มะขามป้อมอาร์ตสเปซ”
หรือ มะขามป้อมเชียงดาว Art Space ที่นี่มีงานศิลปะ แนวอินดี้ๆ  มีมุม มีพื้นที่ ให้เดินชม เดินดูค่อนข้างเยอะ แถมมีคาเฟ่เล็กๆ ให้ดื่มกาแฟ นั่งกินขนม ไอศกรีม ด้วย แต่พอดีตอนไปแดดค่อนข้างร้อน เลยไม่ได้เดินดูภายในพื้นที่มากนัก แล้วก็แวะกินกาแฟกับขนมที่ร้านหน้งสือเชียงดาวมาก่อนแล้ว เลยไม่ได้ไปนั่งชิลๆ ที่ร้านกาแฟของที่มะขามป้อม

พูดถึงงานศิลปะภายภายในบริเวณนั้น ก็อยากพูดถึงงานชิ้นหนึ่ง ซึ่งผมเดินไปเจองานศิลปะชิ้นนั้น จัดแสดงอยู่กลางแจ้งบริเวณด้านหน้าของมะขามป้อมฯเลย  เป็นคล้ายๆ ประติมากรรมรูปคนขี่จักรยานห้อยหัวลง เห็นแล้วก็อมยิ้ม เลยเก็บภาพมาไว้ดู
IMG_3618

แล้วบังเอิญ หลังจากกลับมาแล้ว ก็ไปเจอเฟสบุ๊คของ ก้อง ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการนิตยสารอะเดย์ ลงภาพนี้ในอีกมุม ทำให้ผมถึงบางอ้อว่า ศิลปะมันต้องดูนานๆ ดูหลายๆมุม เราถึงจะเห็นอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในงานนั้นๆ งานชิ้นนี้ไม่ได้โดดเด่นด้วยตัวมันเอง แต่ต้องมองประกอบกับสภาพแวดล้อม รอบๆ งานชิ้นนี้ และมองในมุมที่แตกต่างออกไป เราถึงจะค้นภาพความงดงามที่แสนพิเศษ

โพสรูปเฟสบุ๊คของทรงกลด บางยี่ขัน 

No.128 ฉบับบันทึกสั้นทริปจันทบูร

บันทึกสั้นๆ 10 ข้อ ระหว่างเยือนไปเมืองจันทน์เมื่อเสาร์ อาทิตย์ก่อน

1.พนักงานร้าน The Coffee Club สาขาจุดพักรถมอเตอร์เวย์ ดูอินเตอร์ดี พอสั่งกาแฟมานั่งดื่ม ก็เดินมาคุย ถามว่ารสชาติเป็นยังไง ปกติเคยดื่มกาแฟที่นี่มั้ย พร้อมคุยให้ฟังว่า ที่่ร้านนำเข้ากาแฟจากออสเตรเลีย (ไม่รู้จริงป่าว แต่ก็เป็นไปได้ เพราะร้านต้นฉบับอยู่ที่นั่น MINOR International ($MINT) ไปซื้อกิจการพร้อมๆกับเครือโรงแรม OAKS มา แล้วเอามาเปิดสาขาในไทย) คุยกันต่อนิดหน่อย ก็ปิดท้ายด้วยประโยค “Enjoy นะครับ”…นั่นนน อินเตอร์มั้ยหล่ะ

2.ถนนสาย 344 บ้านบึง-แกลง ขาไป ถนนเป็นโลกพระจันทร์มากมาย ทั้งตกทั้งเฉี่ยวหลุมไปหลาย ขับไปบ่นไปตลอดทาง แต่พอขับไปถึงเมืองจันทน์ ก็นึกถึงสมัยพระเจ้าตาก กว่าจะยกทัพอ้อมออกจากกรุงศรีไปเข้าตีเมืองจันทนนน์ สมัยนั้นคงแสนลำบาก…โอเคเลิกบ่น

3.ตอนไปเยี่ยมชมบ้านเรียนรู้ชุมชนริมน้ำจันทบูร คุณป้าเจ้าของบ้านเข้ามาทัก บอกว่า บอร์ดแสดงข้อมูลต่างๆ ตัวหนังสืออาจจะเล็กไปหน่อยนะ เพราะเด็กวัยรุ่นในชุมชนเป็นคนทำ…ผมนี่ถึงกับรู้สึกแก่ขึ้นมาทันที
http://instagram.com/p/ukHVHewLNo
http://instagram.com/p/ukH331QLOC
http://instagram.com/p/ukIYYtQLOj

4.ก๋วยเตี๋ยวต้มยำทะเล เจ๊อี๊ดริมน้ำ(จันทบูร) จากอาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล เดินข้ามสะพานข้ามแม่น้ำมา เลื้ยวซ้าย ร้านหาไม่ยาก แต่โต๊ะว่างหายาก ลองสั่งข้าวจ้าวสมุทร ตอนสั่งนึกถึงหน้าตาแบบข้าวผัด แต่จริงๆ เป็นข้าวสวยธรรมดา โปะหน้าด้วย กุ้ง กั้ง หอย ปู ปลาหมึก ลวกสุก เสริมพร้อมน้ำจิ้มซีฟู้ด…ง่ายๆ แต่อร่อยฟินๆ
http://instagram.com/p/ukIr4KQLO4

5.ป่าโกงกางบริเวณเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นป่าปลูก ไม่ใช่ป่าธรรมชาติ แต่ดูเป็นป่าปลูกที่อลังการมาก…เพิ่งอ่านบทบรรณธิการ a day ฉบับ 168 แล้วเห็นภาพเลย คือ ถ้าพวกกิจกรรม CSR ปลูกป่า เบื้องหลังเขาปลูกกันจริงๆจังๆแบบที่อ่าวคุ้งกระเบน ไม่ใช่แค่ PR เอาหน้า ป่านนี้ป่าคงเต็มบ้านเต็มเมืองไปแล้วมั้งเนี่ย
http://instagram.com/p/uko8TnwLEn
http://instagram.com/p/ulQmsEwLPP
http://instagram.com/p/ulQ9TfwLAF

6.กิจกรรมยอดฮิตอย่างหนึ่งของทริปทะเลจันทน์คือ นั่งเรือตกหมึก ที่ไปมา อัตราค่าบริการคนละ 400 บาท ตอนไปบนเรือมีนักท่องเที่ยวประมาณ 20 คน คิดแล้วก็ประมาณ 8000 บาท เรือออก ทุ่ม เข้าฝั่งจริงๆ ก็เที่ยงคืน (มีเข้าฝั่งมาส่งคนก่อนรอบนึงตอนสามทุ่มกว่า) …ดูแล้วก็เป็นธุรกิจที่น่าจะทำกำไรดีนะ
http://instagram.com/p/ukXPNrQLNW
http://instagram.com/p/ukYiyBwLOZ

7.อาหารเช้าของที่พัก(The Pier) เขาให้มาแบบง่ายๆ ข้าวต้ม กาแฟ ขนมปัง สลัดผัก แต่กินรวมกับบรรยากาศรอบๆ ความอร่อยก็เพิ่มขึ้นมาเอง
http://instagram.com/p/umCHS4QLDb
http://instagram.com/p/umJvk2QLPe

8.น้ำตกพลิ้วเป็นสถานที่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดมาก ถึงขนาดโปรดเกล้าให้สร้างเจดีย์ขึ้นมาเพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จประพาสพร้อมพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์(พระนางเรือล่ม) และโปรดเกล้าให้สร้างสถูปพระนางเรือล่มรูปทรงพีระมิด เพื่อเป็นที่ระลึกถึงความรักที่มีต่อพระนางฯ ณ ที่แห่งนี้อีกด้วย
http://instagram.com/p/umoPlZQLAz
http://instagram.com/p/umojIUwLBR

9.สะพานตากสินฯ ของกรุงเทพฯ เชื่อมสาธรกับฝั่งธนฯ แต่สะพานตากสินฯเมืองจันทน์ เชื่อมสองฝั่งของปากแม่น้ำจันทบุรี

10.ด่านลาดกระบังมอเตอร์เวย์ขาเข้า รถติดยาวมากเกินกว่าจะคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติได้…สรุปว่าเลิกบ่นเรื่องถนนหนทางไม่ได้ ;p

No.122 ฉบับฟูจิซัง

ผมเป็นคนชอบภูเขา ไม่ได้ชอบปีนเขาเพื่อพิชิต แต่ชอบนั่งมองภูเขา โดยเฉพาะภูเขาที่มีเรื่องราวและตำนาน

ถ้าเป็นเมืองไทย ผมหลงใหลดอยหลวงเชียงดาว และคราวที่ผมได้ไปญี่ปุ่น แน่นอนฟูจิซังทำให้ผมต้องตะลึง

ฟูจิซังนั้นน่ารักกล่าวทักทาย   こんにちは เมื่อผมไปถึง ยามผมนั่งเครื่องกลับก็ยังกล่าว じゃ、またね เป็นการปิดท้าย

ที่ชมว่าน่ารักเพราะฟูจิซังไม่เหนียมอายหลบหลังเมฆหมอก ออกมาหยอกล้อกับผมตลอดทั้งทริป

ผมไปญี่ปุ่นแบบชะโงกทัวร์ การใช้เวลาส่วนตัวกับฟูจิซังก็เลยดูน้อยนิด เลยขออุทิศพื้นที่บล็อกเล็กๆนี้ ให้กับรูปของฟูจิซัง 🙂

ปล.เพื่อความสุนทรีย์ สามารถคลิกเพื่อดูภาพใหญ่ได้
ปล.2 จริงๆแล้วบล็อกนี้อยากลองฟีเจอร์แกลลอรี่ของWordPressเท่านั้นเอง ;p

No.117 ฉบับหนานบัวผัน

ปลายเดือนก่อน ไปออกทริป บิ๊กแฟมิลี่ จุดหมายปลายทางหลัก คือ จังหวัดน่าน โดยพักในตัวเมืองน่านอยู่ 1 คืน และ อำเภอบ่อเกลืออีก 2 คืน โดยช่วงที่พักอยู่ในตัวเมือง ก็ได้มีโอกาสไปท่องเที่ยวตามวัดสำคัญๆต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คงหนีไม่พ้น วัดภูมินทร์

วัดภูมินทร์ ในตัวเมืองน่าน
IMG_2561_1

วัดภูมินทร์เองนั้นมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่แปลกตาไปกว่าวัดอื่นๆ หลายอย่าง  แต่ที่เด่นชัดมากๆ คือ เป็นวัดที่สร้างทรงจัตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทย (อ้างอิง) นอกจากเรื่องของสถาปัตยกรรมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชมวัดนี้ก็คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถนั่นเอง

หนึ่งในภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดภูมินทร์ ที่โด่งดังไปทั่วโลก ก็คือ ภาพ ปู่ม่าน ย่าม่าน หรือ “กระซิบ บรรลือโลก” นั่นเอง

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ปู่ม่านย่าม่าน ภายในอุโบสถวัดภูมินทร์

http://instagram.com/p/hPbGPOQLGr
ด้วยความที่คนส่วนใหญ่นั้น อาจจะให้ความสนใจไปกับตัวภาพวาด และนึกสงสัยไปแค่ว่า ชาย หญิง คู่นี้ เขากระซิบอะไรกัน ทำให้ลืมให้ความสำคัญและค้นหาข้อมูลต่อว่า ใครกันที่เป็นผู้วาดภาพนี้  แต่ยังโชคดีที่ อาจารย์  วินัย ปราบริปู ศิลปินคนน่าน ผู้ก่อตั้ง หอศิลป์ริมน่าน ไม่ลืมความสำคัญข้อนี้ จึงได้ค้นคว้าข้อมูลจนทราบว่า ใคร คือ ผู้ที่น่าจะเป็น ผู้วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังนี้

จากบทสัมภาษณ์และข้อมูลที่พอจะหาได้จากอินเตอร์เน็ตนั้น อาจารย์ วินัย ปราบริปู ได้ให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ประมาณว่า

“ศิลปินผู้เขียนภาพที่วัดภูมินทร์เป็นศิลปินคนเดียวกับผู้เขียนภาพที่วัดหนองบัว วัดสำคัญของชาวไทลื้อที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน บุคคลท่านนั้นคือ “หนานบัวผัน” หรือ ทิดบัวผัน ช่างวาด หรือ”สล่า” ชาวไทลื้อ ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ภาพจิตรกรรมวัดภูมินทร์กับวัดหนองบัวมีโครงสร้างสีเดียวกัน คือ แม่สีแดง น้ำเงิน เหลืองเป็นหลัก

ที่สำคัญคือ มีภาพที่คล้ายคลึงกันถึงกว่า 40 จุด เช่น ใบหน้าคน การแต่งกาย สรรพสัตว์ ทั้งไก่แจ้ นก ลิง กวาง แม้กระทั่งแนวการลากเส้นสายพุ่มไม้และกอสับปะรด ก็ยังเป็นแบบเดียวกัน คือเป็นแนว “คตินิยม” หรือเขียนตามจินตนาการมากกว่าจะเขียนเป็นภาพเหมือนจริง(Realistic) ที่เด่นชัดคือการเขียนคิ้วบนใบหน้าชายและหญิงให้โค้งเป็นวงพระจันทร์ แล้วลากหัวคิ้วข้างหนึ่งลงมาเป็นสันจมูก เหมือนกันทั้งที่วัดหนองบัวและวัดภูมินทร์ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการค้นพบภาพร่างด้วยหมึกบนกระดาษสาพับ (ชาวล้านนาเรียก ปั๊บสา) ระบุว่าเป็นของ “หนานบัวผัน” ใช้ร่างก่อนภาพจริงลงบนฝาผนัง ซึ่งมีหลายภาพ อาทิ ภาพอีโรติกของลิงหนุ่มสาว เป็นภาพร่างใน “ปั๊บสา” พบที่วัดหนองบัว แล้วมีภาพนี้ไปปรากฎที่ฝาผนังวัดภูมินทร์ด้วย

จึงมีความเป็นไปได้ว่า “หนานบัวผัน” สล่าชาวไทลื้อ ซึ่งมีหลักฐานว่าเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา ในช่วง พ.ศ. 2410-2431 จะเป็นผู้รังสรรค์ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ ระหว่างการบูรณะครั้งใหญ่ โดยเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ ระหว่าง พ.ศ. 2410-2418 หรืออาจเขียนที่วัดหนองบัวก่อน แล้วมาเขียนที่วัดภูมินทร์ ในสมัย พระเจ้าสุริยะพงษ์ผริตเดชฯ ซึ่งปกครองนครน่านระหว่าง พ.ศ. 2446-2461 ก็เป็นได้”   (อ้างอิง)

ผมเองก็ได้มีโอกาสตามรอยข้อมูลนี้ โดยได้ไปแวะเที่ยวชม หอศิลป์ริมน่าน ซึ่งมีห้องจัดแสดงผลงาน ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังสำคัญๆของจังหวัดน่าน โดยตั้งชื่อว่า “เฮือนหนานบัวผัน” และได้มีโอกาสไปชมจิตรกรรมฝาผนังที่วัดหนองบัวต่อจากนั้นด้วย

เฮือนหนานบัวผันภายในบริเวณหอศิลป์ริมน่าน

http://instagram.com/p/g9yyTEwLNR
อุโบสถวัดหนองบัว อ.ท่าวังผา

http://instagram.com/p/g94D7WQLA2
เรื่องราวเกี่ยวกับหนานบัวผันนั้น มีความน่าสนใจในหลายๆมิติ มีองค์ประกอบทั้งเรื่องของ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ในช่วงรัชกาลที่ 4 ต่อ รัชกาลที่ 5 ( ซึ่งช่วง 2 รัชกาลนี้มีเรื่องราว เหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นมากมาย ส่วนหนึ่งมาจากการเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ของชาติตะวันตก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม วัฒนธรรม การเมือง ไปสู่คำว่า “สมัยใหม่” ในหลายๆเรื่อง) จึงทำให้ผมแอบคิดในใจไม่ได้ว่า หากเรื่องราวของหนานบัวผันนี้เป็นเรื่องราวของคนเกาหลี ป่านนี้คงถูกเอามาดัดแปลงทำเป็นซี่รี่ส์ย้อนยุค ให้คนได้ดูกันอย่างสนุกสนานพร้อมความเกร็ดความรู้ด้านประวัติศาสตร์ไปแล้ว  

No.83 ฉบับเลียบเคียงเชียงคาน

ช่วงก่อนปีใหม่ 2555 ผมได้มีโอกาสขับรถเดินทางไปเพชรบูรณ์ แวะพักผ่อนเขาค้อ แล้วก็เลยต่อไปนอนอีกคืนทีเ่ชียงคาน นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปีที่ผมได้มีโอกาสมาสัมผัสบรรยากาศริมฝั่งแม่น้ำโขง หลังจากครั้งแรกเมื่อ 3-4 เดือนก่อน แต่เป็นคนละฝั่งประเทศ (อ่านเพิ่มเติมที่ No.78 ฉบับเดินทาง…ชั่วข้ามโขง )

บรรยากาศของเชียงคานในช่วงเวลาที่ผมไป คึกคักอยู่พอประมาณ ไม่มากไม่น้อย อาจเป็นเพราะยังเป็นวันธรรมดาก่อนปีใหม่ (ผมไปวันที่ 28 ธันวาคม 2554) ซึ่งคิดว่าถ้าเป็นช่วงหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ ผู้คนคงมากมายขึ้นกว่าที่เห็นอยู่

ผมมีเวลาเดินสำรวจบ้านเรือนริมฝั่งโขง และ บริเวณใกล้เคียง (ระแวกถนนรอบนอกเส้นศรีเชียงคาน) ไม่มากนัก เพราะพักที่เชียงคานแค่คืนเดียว แต่ถ้าวัดจากผู้คนที่ผมได้พูดคุยด้วยเล็กน้อย ประกอบกับการสังเกตด้วยสายตา ผมว่าเชียงคานยังรักษาบรรยากาศ วิถีชิวิตดั้งเดิมไว้ได้ประมาณนึง วัดจากลักษณะของห้องพัก ที่ส่วนใหญ่ จะเป็นลักษณะโฮมสเตย์ เจ้าของก็เป็นคนในพื้นที่ ที่ปรับตัวรับกระแสการท่องเที่ยวที่เริ่มบูม ซึ่งผมก็ยังรู้สึกดีกว่า แหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่นหลายๆที่  ที่เมื่อบูมแล้ว คนท้องถิ่นก็มักจะขายบ้านขายที่ให้นายทุน มาสร้างรีสอร์ต ที่พัก แทน

อย่างบ้านพักที่ผมไปพัก ก็เป็นบ้านของคนที่อยู่เชียงคานมาตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ ก็ปรับบปรุงบ้านตัวเอง มาเป็นบ้านพักเล็กๆ กั้นห้องให้แขกพัก 4-5 ห้อง แล้วก็ยังคงอนุรักษ์โครงสร้างหลักที่เป็นไม้เดิมๆ เอาไว้ ซึ่งเจ้าโครงสร้างบ้านไม้แบบเดิมๆ นี่แหล่ะ ที่เป็นจุดขายและเสน่ห์ ดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนเมืองหลวง ที่วันๆ เห็นแต่ตึกติดกระจกสูงๆกับบ้านปูนซีเมนต์

นอกจากโครงสร้างบ้านเรือนที่ส่วนใหญ่ชาวบ้านยังคงอนุรักษ์กันไ้ว้แล้ว วิถีชีวิตบางอย่าง เช่น การใส่บาตรข้าวเหนียวตอนเช้า หรือ การใช้รถจักรยาน ก็ถูกนำมาใช้เป็นจุดขายในดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาที่เชียงคาน ไ่ม่แพ้ของทางหลวงพระบางเขาเหมือนกัน แม้ว่ารูปแบบอาจถูกปรับเป็นเชิงพานิชย์ไปบ้าง (เช่นเจ้าของที่พักจะมี package ใส่บาตรตอนเช้าพ่วงกับค่าที่พัก ) แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่ได้ทำลายวิถีชีวิตเดิมๆ จนเกินไป

แต่แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกสิ่งที่จะได้รับการอนุรักษ์เอาไว้ เพราะกระแสการท่องเที่ยวเชิงบริโภคนั้น ยังรุนแรงมากพอที่จะพัดเอาวิถีชีวิตเดิมๆของคนเชียงคานออกไปบ้าง  แต่ก็ไม่ได้มากมายนัก ตัวอย่างเล็กๆ อย่างหนึ่ง ที่ผมรู้สึกได้ ก็คือ ร้านขายขนมที่ผมได้มีโอกาสได้ไปนั่งกินตอนค่ำๆ

ร้านที่ว่าหน้าร้านเป็นรถเข็น มีโต๊ะเก้าอี้ ชุดเล็กๆ ตั้งไว้ ภายในร้าน ซึ่งเ่ท่าที่ผมสังเกตดูโครงสร้าง ไม่น่าจะเป็นบ้านแบบเดิมๆ แต่เป็นเพิงที่ต่อเติมจากซอก หรือ ซอย ระหว่างบ้านสองหลังซะมากกว่า จึงได้ถามพี่คนขายถึงที่มาที่ไปของร้าน พี่เขาเล่าว่า พี่เขาเป็นคนเชียงคานที่แหล่ะ แต่ก่อนก็ขายขนม รถเข็นเล็กๆ อยู่อีกแถบหนึ่งของเชียงคาน พอดีเพื่อนเขาได้มาเป็นลูกสะใภ้ของบ้านนี้ ( ชี้ไปที่บ้านที่อยู่ข้างๆร้าน)  พี่เขาเลยตีท้ายคร้ว ขอเช่าที่ตรงนี้ ซึ่งเดิมเป็นแปลงผัก เอามาต่อเติมเป็นร้านขนมเล็กๆ แทน  พี่เจ้าของร้านเล่าไปหัวเราะไปด้วยอัธยาศรัยที่ค่อนข้างดี  และยังชักชวนให้ลองมาเที่ยวสงกรานต์ เพราะบรรยากาศจะสนุกสนานมาก

จากการพูดคุยทำให้พอเห็นภาพวิถีชีวิตสมัยก่อน ที่แต่ละบ้านน่าจะใช้พื้นที่ว่างข้่างๆบ้าน ปลูกพัก ทำสวน ไว้กินเอง แต่เมื่อกระแสการท่องเที่ยวเชิงบริโภคมาถึง แปลงผักเหล่านั้น ก็ถูกปรับเปลี่ยนเป็นร้านกาแฟ บรรยากาศชิลๆ บ้าง ร้านขนมเก๋ๆ บ้าง ร้านขายของที่ระลึก ฮิปๆ บ้าง เพื่อเพิ่มมูลค่าของที่ดิน แต่อย่างน้อยๆ ก็ยังดีที่เจ้าของร้านเหล่านั้น ยังคงเป็นคนเชียงคาน ไม่ได้เป็นคนต่างถิ่นที่เข้าทำกินแบบฉาบฉวย ( คล้ายๆ พวกทำไร่เลื่อนลอย ) มากนัก

จากประสบการณ์ที่เชียงคาน ทำให้ผมนึกไปถึงคำนำผู้เขียนของหนังสือ กรีนไกด์บุ๊ค เล่ม 3 Green Life, Green Community (ปฏิบัติการยิ่งใหญ่ในชุมชนเล็กๆ : ชุมชนสีเขียวพึ่งตนเอง) ที่เขียนไว้ว่า “…การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการสร้างความเข้มแข็งในชุมชน การท่องเที่ยวทำให้ชุมชนรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมดั้งเดิมของตัวเองเอาไว้ เพราะสามารถกลายเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยวได้…การท่องเที่ยวยังทำให้คนหนุ่มสาวไปจนถึงคนเฒ่าคนแก่มีงานทำในหมู่บ้าน ลูกหลานไม่ต้องออกไปเป็นแรงงานรับจ้างต่างถิ่น…”

การมาเที่ยวเชียงคานครั้งนี้ มีเวลาน้อย จะว่าไปก็เหมือนแค่มาเลียบๆ เคียงๆ ยังไม่ได้เข้าไปทำความรู้จักหรือสัมผัสให้ลึกซึ้งมากกว่านี้ ภาพความเป็นจริงอาจแตกต่างไปจากที่ผมเห็นอยู่ทั้งอาจจะดีกว่า หรือ แย่กว่าก็ได้  ผมเองก็ได้แต่หวังว่า ชุมชนคนเชียงคาน จะรู้ว่าจุดขายทางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของตัวเองคืออะไร และไ่ม่ปล่อยตัวปล่อยใจ ให้กระแสการท่องเที่ยวเชิงบริโภคพัดพาให้มันสูญหายไปเสียก่อน