No.109 ฉบับพัทยาพอสังเขป

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาสไปกึ่งทำธุระกึ่งเที่ยวที่พัทยามา พอจะมีอะไรให้ได้เล่าสู่กันฟังพอสังเขป จึงขอบันทึกไว้สักหน่อย

จริงๆแล้วพัทยามีที่เที่ยวทางธรรมชาติก็ไม่ใช่น้อย แต่มาช่วงหลังๆ สถานที่ที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว (โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวไทย) กลับกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนสร้างขึ้นมา โดยเฉพาะ 2 สถานที่ที่ผมเพิ่งได้แวะไปมา ก็คือ อาร์ตอินพาราไดซ์ ( Art in Paradise ) กับ มิโมซ่า( Mimosa )

ก่อนจะไปเล่าเรื่อง 2 สถานที่ที่เกริ่นไว้ ขอเล่าบรรยากาศทั่วๆไปของพัทยาให้ฟังก่อนว่า พัทยานั้นเป็นเมืองนอนดึก ตื่นสาย คือ กว่าที่ร้านรวงต่างๆจะเปิดค้าขาย ผู้คนจะออกมาคึกคัก ก็ตกบ่ายๆ ของวันแล้ว ส่วนการจราจรนั้นแทบจะเหมือนกรุงเทพฯเข้าไปทุกที โดยเฉพาะเส้นสุขุมวิทที่ตัดผ่านแยกเข้าพัทยา เหนือ/กลาง/ใต้ ซึ่งเป็นธรรมดาอยู่แล้วที่จะมีรถเข้าออกเป็นปริมาณมาก และ อีกส่วนที่แทบให้ความรู้สึกกรุงเทพเข้าไปทุกทีก็คือ ตึกสูงของคอนโดมีเนียมต่างๆ ซึ่ีงสามารถเห็นได้แต่ไกลตั้งแต่ขับรถอยู่ในมอเตอร์เวย์

กลับมาที่ 2 สถานที่ท่องเที่ยวที่เกริ่นไว้ ที่แรก อาร์ตอินพาราไดซ์ (Art in Paradise) นั้นเป็นเหมือน Art Gallery ขนาดใหญ่ โดยอาศัยผนังและพื้นภายในอาคารเป็นเสมือนผืนผ้าใบที่ให้ศิลปินวาดภาพเพื่อจัดแสดง โดยเน้น ความเป็น 3 มิติ ชวนพิศวง ซึ่งก็ถูกจริตนักท่องเที่ยวที่ชอบถ่ายภาพแปลกๆในอริยาบถต่างๆ เสียนี่กระไร ( ถ้าเทียบกับการได้ถ่ายภาพได้หลากหลายแอ็ค ก็คิดว่าน่าจะคุ้มกับ 150 บาทสำหรับค่าบัตรผ่านประตูสำหรับนักเที่ยวไทย )

IMG_2082
IMG_2110
ส่วนที่ที่สอง คือ มิโมซ่า(Mimosa) นั้น จะเน้นไปที่การจัดสร้างอาคารสถานที่ จำลองบรรยากาศสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสแบบโบราณ ซึ่งภายในก็จะเป็นร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ มีลานน้ำพุ มีโรงละครสำหรับจัดแสดงคาบาเร่ต์โชว์ ( ถ้าเทียบกับค่าบัตรผ่านประตูเข้ามิโมซ่า 50 บาทกับการชมการแสดงคาบาเร่ต์ ก็ถือว่าุคุ้มอยู่พอสมควร ) ซึ่งเข้าใจว่าปกติ ถ้าเป็นรอบกลางวันจะแสดงในโรงละคร แต่ถ้าเป็นกลางคืน จะแสดงที่ลานน้ำพุ แต่วันที่ผมไปฝนตก แสดงที่ลานน้ำพุไปได้กลางคัน ก็ต้องย้ายวิกไปแสดงในโรงละครต่อ

IMG_2181_resized2

IMG_2180_resized2
ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับแม่ค้าขายอาหารในศูนย์อาหารภายในมิโมซ่า ก็ได้ทราบว่า ช่วงนี้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวในมิโมซ่าเยอะเกือบทุกวัน แม้จะเป็นวันธรรมดาก็ตาม ส่วนวันหยุดติดต่อกันอย่างช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา ไม่ต้องพูดถึง แม่ค้าขายของกันแทบไม่ทัน

โดยรวมๆแล้ว คิดว่าพัทยาก็ยังคงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ดึงดูด นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ให้ไปเที่ยวได้อยู่เสมอ แม้ว่าสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบคนสร้างก็ตาม ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับพัทยา เพราะจริงๆแล้ว พัทยาก็ขยายและขายการท่องเที่ยวในลักษณะนี้มาโดยตลอด ตั้งแต่สถานที่ท่องเที่ยวยุคแรกๆ อย่าง เมืองจำลอง หรือ สวนนงนุช จนมาถึงยุคของ มิโมซ่าและอาร์อินพาราไดซ์ในวันนี้

No.108 ฉบับวัคซีนต้มยำกุ้ง

บรรยากาศเศรษฐกิจโลกช่วงนี้ ดูเหมือนหลายๆคนมองว่า อาจจะเกิดวิกฤติแรงๆ รอบใหม่อีกแล้ว เหตุเพราะเงินกระดาษเริ่มล้นโลก สร้างฟองสบู่ในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นๆ จนดูเหมือนฟองสบู่เล็กๆ จะแตกไปบ้างแล้ว ( ตัวอย่างตลาดหุ้นบ้านเราช่วงที่ผ่านมา )

พอพูดถึงวิกฤกติเศรษฐกิจ เหตุการณ์สำคัญๆ ที่คนไทย มักจะนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ ก็น่าจะเป็นวิกฤติปี 2540 หรือที่เรียกันจนคุ้นหูว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง

ปีนี้เวียนมาบรรจบ ครบ 16 ปี จนมีสื่อหลายสำนักและผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์ พยายามเล่าสู่กันฟังถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น เพื่อถอดบทเรียนให้คนรุ่นปัจจุบันได้ระลึกถึง ไม่หลงระเริงไปกับตัวเลขการเติบโตที่ไม่ยั่งยืน(อันเกิดจากการอัดฉีดเงินกระดาษอย่าง QE) ระมัดระวัง และหาทางป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก

หนึ่งในผู้อยู่ในเหตุการณ์วิกฤติปี 2540 และเล่าผ่านตัวหนังสือในเฟสบุ๊ค ได้อย่างสนุกและน่าติดตาม ก็คือ คุณบรรยง พงษ์พานิช (facebook.com/banyong.pongpanich) ซึ่งได้เล่าเป็นซีรีส์เอาไว้ค่อนข้างยาว ผมได้รวบรวมลิงค์มาไว้ที่นี่ให้ได้ลองอ่านกัน

ส่วนถ้าใครไม่ชอบอ่านเป็นตัวหนังสือ ถนัดนั่งดูนั่งฟังเป็นวีดีโอคลิปบน youtube ก็ลองไปดูซีรี่ส์ “15 ปี วิกฤติ 2540” ซึ่งทาง ThaiPublica ได้จัดทำไว้ เมื่อปีที่แล้ว ก็ได้ครับ ( ดู Teaser ด้านล่าง )

ย้อนกลับมาที่ตัวผมเอง ความทรงจำเกี่ยวกับวิฤกติปี 2540 นั้นค่อนข้างจะเลือนราง เหตุก็น่าจะเพราะตัวผมเองไม่ได้รับผลกระทบอะไรโดยตรง หรือได้รับไม่มากนัก จำได้แค่ว่า ตอนนั้นเพิ่งทำงานปีแรกๆ บรรยากาศในบริษัทส่วนใหญ่ก็จะเป็นลักษณะที่มีนโยบายรัดเข็มขัดต่างๆ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รุ่นพี่ในแผนกบางคนที่เรียนไปทำงานไป ก็ตัดสินใจหยุดเรียนไปก่อน เพื่อต้องการทุ่มเทกับการทำงานมากกว่า เพราะช่วงนั้น ความมั่นคงในงานเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะคนตกงานและหางานยากมาก ซึ่งเมื่อเทียบกับปัจจุบันก็คงจะตรงกันข้าม เพราะเหมือนในหลายๆอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงที่ขาดแคลนแรงงาน และเด็กไทย Gen Y ยุคนี้ก็เป็นฝ่ายเลือกงานมากกว่าที่บริษัทจะเป็นฝ่ายเลือกซะอีก

หลายคนชอบพูดว่า คนที่ผ่านวิกฤติมา จะมีภูมิต้านทานพิเศษบางอย่างเสมือนได้วัคซีนป้องกันโรคชั้นดี ดังนั้นถ้าจะมองวิกฤติปี 2540 ในแง่ดี ผมว่าคนรุ่นนั้นคงได้รับวัคซีนต้มยำกุ้งกันมาแล้วทุกคน 🙂